บทความ “บทสนทนาพิเศษ” ของสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ร่วมกันนำพา “บ้านอร่อย ๒๕ ฝ่าวิกฤติโควิด”

สวัสดีค่ะทุกท่าน สำหรับบทความพิเศษ “บ้านอร่อย ๒๕ ฝ่าวิกฤติโควิด” เราอยากแบ่งปันวิธีคิด วิธีการ ที่ทำให้เรากลับมียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนจะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดเสียอีก เราคิด เราทำอย่างไร เราขอแบ่งปัน เชิญทุกท่านอ่านร่วมกันนะค่ะ โดยบทความนี้จะเป็นรูปแบบการคุยกันระหว่างดิฉันชื่อเล่นเจี๊ยบ (นางสาวชนัญชิดา ลิ้มนนทกุล) กับสามี (นายปรีดา ลิ้มนนทกุล) ค่ะ

ชนัญชิดา: สวัสดีค่ะ วันนี้จะเป็นบทความแปลกๆ สักหน่อย ลักษณะเป็นการพูดคุยกันในครอบครัวลิ้มนนทกุล ซึ่งเราพูดคุยกันบ่อยเกี่ยวกับเรื่องสัมมาอาชีพ และครั้งนี้เป็นการพูดคุยถึงการแก้ปัญหาของธุรกิจ “บ้านอร่อย ๒๕” ในช่วงฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด เพื่อนำมาแบ่งปันทุกท่านค่ะ

ปรีดา: ใช่ครับ เราสองคนคุยกันบ่อย คล้ายๆ การพูดคุยกันในห้องประชุม เพราะการพูดคุยกันทำให้เกิดการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ปัญหาหรือการพัฒนางานในระหว่างการพูดคุยกัน หลายท่านคงจะต้องเคยมีประสบการณ์อยู่แล้วนะครับ

ปรีดา: เริ่มเลยนะครับ ตอนที่เราจะเจอปัญหาวิกฤติไวรัสโควิด แล้วต้องปิดร้าน เราทำอย่างไรบ้างครับ

ชนัญชิดา: ค่ะ ปัญหาแรกเลยค่ะ คือเราต้องปิดร้านแบบไม่รู้ตัวล่วงหน้า และไม่มีกำหนดด้วยว่าจะต้องเปิดร้านเมื่อไหร่ เพราะเราไม่รู้ว่าโรคโควิดจะมีสถานการณ์ไปในทางไหนยังไง จะดีขึ้นเมื่อไหร่ ตอนนั้นที่เราดูข่าว มันมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลกก็เป็นแบบนั้นเพิ่มขึ้นๆ จนในไทยเราขอความร่วมมือคนในประเทศ จนมี พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งเราเองก็ต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ในที่สุดเราก็ต้องปิดร้าน แรกๆ เราก็ปิดๆ เปิดๆ อยู่พักหนึ่งตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จนปิดร้านเต็มที่เมื่อ 14 มี.ค.63 ค่ะ

สำหรับการปิดร้าน ก็ตั้งแต่ว่าเราเป็นร้านค้าที่อาจจจะเป็นตัวกลางการแพร่กระจายโรคได้ หน้ากากอนามัยก็หายาก เราเองก็ไม่อยากติดไวรัสโควิดด้วย เพราะมีลูก มีสามีที่พิการรุนแรง ซึ่งปิดใช้งานได้แค่ครึ่งเดียว แล้วโรคนี้ก็ทำลายปอดด้วยค่ะ การปิดร้านจึงเป็นจากหลายสาเหตุค่ะที่เรายังไงก็ต้องปิดร้านค่ะ

ปรีดา: ใช่ครับ จริงๆ แล้ว แนวคิดที่ทางรัฐบาลนำมาใช้ “สุขภาพนำเศรษฐกิจ” ในทรรศนะของเรานั้น ถูกต้องที่สุด ณ ชั่วโมงนี้ครับ หลายๆ ประเทศที่ใช้วิธี “เศรษฐกิจนำสุขภาพ” หรือแบบกั๊กๆ ไม่รู้จะเอาอะไรนำดี ก็ปรากฎเห็นเป็นประจักษ์แล้วว่ามีคนติดเชื้อไวรัสโควิดเยอะมากจนระบบสาธาณสุขแทบล่มสลาย ตรงนี้ไม่ต้องคิดยากเลยครับ มองแค่ตัวเรา ถ้าเราป่วยไม่สบาย แล้วเราจะมีกำลังมีสมอง สติปัญญาอะไรไปทำงาน วันๆ หนึ่งต้องวิ่งเข้าออกโรงพยาบาลก็หมดไปแล้ว คิดแค่ตรงนี้ก็เห็นภาพใหญ่ได้ว่าประเทศไทยเรามาถูกทางคือ “สุขภาพนำเศรษฐกิจ” ครับ

ชนัญชิดา: ปัญหาต่อมาที่ตามมาติดๆ คือ ปัญหาการจ่ายค่าเช่าที่ร้าน ทางเจ้าของตลาดไม่ได้ลดค่าเช้าให้เรา เราตัดสินใจย้ายออกเดือนเมษายน 2563 เต็มเดือนมีนาคมกับเมษายน 2 เดือน เราจ่ายค่าเช่าไปเปล่าๆ และไม่รู้ว่าจะต้องจ่ายไปอีกนานแค่ไหน เพราะเราไม่รู้อนาคตค่ะ ถ้าจะต้องจ่ายค่าเช่าแล้วไม่รู้ว่าจะเปิดร้านได้เมื่อไหร่ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ “หยุดรายจ่าย” ก่อนเป็นเรื่องแรกค่ะ

ปรีดา: ครับผมเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เรื่องการหยุดรายจ่าย ครอบครัวเราทำเรื่องนี้ หากเปรียบเทียบกับระดับประเทศที่รัฐบาลจัดการก็สามารถสะท้อนให้เห็นว่า การจัดการคล้ายๆ กันนะครับ ตรงที่รัฐบาลหยุดรายจ่ายของประชาชนในประเทศด้วยการให้เกิดการหยุดจ่ายค่าสินเชื่อบ้านและรถยนต์ เป็นเวลา 3-6 เดือน ตรงนี้สำคัญครับ ช่วยได้มากๆ ครับ การหยุดสินเชื่อต่างๆ ไม่ทำให้เสียประวัติเครดิตบูโร ด้วยครับ

ชนัญชิดา: ใช่ค่ะ เพราะก่อนโควิดจะมา เรามีรายจ่ายประจำเดือนคือค่าเช่ากับค่าไฟฟ้า ถึงตัวดิฉันจะลงมือทำเองทำให้ไม่มีรายจ่ายค่าแรงนั้น แต่ในที่สุดก็ต้องจ้างคนมาช่วยอยู่ดี ก็จะมีต้นทุนประจำในส่วนนี้ ดังนั้นการย้ายร้านบ้านอร่อย ๒๕ จากตลาดมาไว้ที่บ้านของเราในหมู่บ้านเปี่ยมสุข จึงทำให้เราไม่มีรายจ่ายประจำทันที 2 ส่วนคือ ค่าเช่า กับค่าจ้างแรงงาน ค่ะ ตรงนี้ทำให้เราเหนื่อยน้อยลง ดีตรงที่วันไหนขายได้คือกำไร ทันที จนกว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นถึงจุดที่เราต้องหาคนมาช่วย ก็ตั้งใจสู้เต็มที่ ยอมเหนื่อยตรงนี้เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิดไปก่อนค่ะ

ปรีดา: ผมจำได้ว่ายังมีเหตุสำคัญของการปิดร้านอีกเรื่องด้วยนะ เกี่ยวกับวัตถุดิบ

ชนัญชิดา: ใช่ค่ะ คือสินค้าหลักของเราตัวหนึ่งคือ แหนมเนืองสุทธิลักษณ์พร้อมทาน ที่ไม่มีผักและเครื่องเคียง เราจึงจัดเตรียมผัก 4 ชนิดคือ ผักกาดหอม ผักแพว ใบสะระแหน่ ผักชีใบเลื่อย และเครื่องเคียง 4 ชนิดคือ กระเทียมสด มะม่วง พริกสด แตงกวา เองแล้วบรรจุดในกล่องพลาสติกและกระปุกพลาสติกอย่างดี ทั้งหมดเราต้องไปซื้อที่ห้างแม็คโคร ที่ตลาดสด ที่สวนผัก หลายแหล่งวัตถุดิบ ต้องเจอผู้คน เราก็มีความเสี่ยงติดเชื้อ ในระหว่างการสรรหาวัตถุดิบด้วย นี่ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญของการปิดร้านค่ะ


การเลือกซื้อวัตถุดิบที่ห้างแม็คโคร สำหรับนำไปทำเครื่องเคียง









ปรีดา: ผมคิดว่าเรื่องน่าสนใจที่ผู้อ่านจะได้ประโยชน์ตรงเรื่องการย้ายร้านบ้านอร่อย ๒๕ ว่าคิดตรงนี้อย่างไร ทำอย่างไร มีอุปสรรคปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างไรครับ

ชนัญชิดา: ค่ะ สำหรับปัญหานี้ เรากลับมองว่าไม่มีปัญหานะ เพราะว่าเหมือนเราคิดเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่แรก ตรงที่เราทำร้านบ้านอร่อย ๒๕ ให้เป็นตู้คอนเทนเนอร์ คือเราไม่ได้เอาตู้คอนเทนเนอร์เก่ามาทำร้าน แต่เราสั่งผลิตร้านที่มีงานเชื่อมเหล็กและมีโครงสร้างแบบตู้คอนเทนเนอร์ ดูได้จากความแข็งแรงของตัวตู้ที่ตอนติดตั้งร้าน มีรถเครนยกร้านมาวางที่ตลาด พอเกิดปัญหาโควิดขึ้นมา สิ่งที่เราคิดแต่แรกก็ช่วยเราได้อย่างมาก เราสามารถยกร้านที่มีรูปแบบตู้คอนเทนเนอร์ไปวางที่หน้าบ้านของเรา ในเขตรั้วบ้านของเรา ภายในหมู่บ้านเปี่ยมสุข (บางบัวทอง) ได้เลยทันที เพียงแต่ต้องมีเรื่องของการบริหารจัดการกับค่าใช้จ่ายในการย้ายร้านเพิ่มเข้ามา เข้าตำรา “เจ็บแต่จบ” เหมือนที่คุณปอง ช่องข่าวเนชั่น 22 ชอบพูดค่ะ

ปรีดา: ครับ ผมขอเสริมตรงนี้อีกนิดนะครับ ตู้คอนเทนเนอร์ของร้านบ้านอร่อย ๒๕ เราออกแบบเองว่าต้องการอะไร อย่างไร ออกแบบถึงระบบต่างๆ ภายในตู้ ทำให้สะดวกเวลาติดตั้งชั้นวางสินค้า ตู้เย็น ประปา ไฟฟ้า ระบบเครื่องปรับอากาศ ระบบอินเตอร์เน็ต ระบบทีวีดิจิตัล ระบบกล้องวงจรปิด ซึ่งเราลงงทุนไปทั้งหมดกว่า 4 แสนบาท แม้กระทั่งที่กระจกเราติดฟิล์มกันความร้อยด้วย ผนังของตัวตู้เป็นผนังไอโซวอล ที่ป้องกันความร้อน หลังคาที่สูงกว่าตัวตู้ด้านบน ก็ใช้วัสดุกันความร้อน ทำให้ภายในตัวตู้ประหยัดพลังงานอย่างมาก มีพัดลมระบายความร้อนก่อนเปิดระบบเครื่องปรับอากาศ ทั้งหมดที่ผมกล่าวมานะครับ ตอนที่เราย้ายตู้คอนเทนเนอร์มานั้น ไม่มีอะไรเสียหายเลยโดยเฉพาะภายในตัวตู้

ตอนที่รถเครนยกมายกมาได้เลยสบายๆ แม้กระทั่งระบบเครื่องปรับอากาศ ที่เราสองคนคดีดีทำดีตั้งแต่แรก คือ ตอนตั้งคอมเพรสเซอร์ เราไม่อยากเจาะพื้นคอนกรีตของตลาดให้เป็นรู ให้แตกร้าว จึงปรึกษาผู้ติดตั้งตู้ว่าควรทำอย่างไร ทางบริษัทผู้ผลิตตู้คอนเทนเนอร์จึงแนะนำว่า จะเชื่อมเหล็กเป็นลักษณะยื่นออกมาจากตัวตู้คล้ายขาตั้งยึดคอมเพรสเซอร์ให้แทน เวลาติดตั้งระบบปรับอากาศให้ตั้งคอมเพรสเซอร์บนเหล็กชิ้นนี้ได้เลย ทำให้ตอนขนย้ายร้านมาไม่ต้องรื้อเครื่องปรับอากาศไม่ต้องเสียเงินค่ารื้อระบบค่าติดตั้งระบบใหม่ประหยัดไปหลายพันบาทครับ

ทีมช่างรื้อขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์กำลังรื้อหลังคาเพื่อเตรียมขนย้ายขึ้นรถเครน

รถเครนยกร้านบ้านอร่อย ๒๕ จากตลาดพิมลราชเซ็นเตอร์ มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านเปี่ยมสุข (บางบัวทอง)

รถเครนยกร้านบ้านอร่อย ๒๕ มาถึงหน้าบ้าน 93/43 พร้อมยกลงวางบริเวณลานจอดรถหน้าบ้าน


ช่างวางตู้คอนเทนเนอร์ร้านบ้านอร่อย ๒๕ ในบริเวณรั้วหน้าบ้านเรียบร้อย

ทีมช่างกำลังเชื่อมและดัดแปลงหลังคาให้เข้ากับพื้นที่ ซึ่งมีแนวหลังคาเดิมบริเวณลานนจอดรถ

ช่างกำลังปรับระดับพื้นของตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อปรับระดับประตูกระจกสไลด์

คอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศที่ตั้งอู่บนขาตั้งที่เชื่อมติดกับตัวตู้คอนเทนเนอร์

ด้านหลังเก็บงานเรียบร้อย รอติดตั้งระบบไฟฟ้า และขอมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่มาลงร้านบ้านอร่อย ๒๕

เก็บงานสี ปรับระดับ ติดตั้งระบบแสงสว่าง ทุกเรื่องเรียบร้อย รอเพียงไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง

การยกย้ายตู้คอนเทนเนอร์ร้านบ้านอร่อย ๒๕ เสร็จสมบูรณ์ รอเพียงระบบไฟฟ้าและการเปิดรร้านอีกครัั้ง

ชนัญชิดา: ใช่ค่ะ เรียกว่า อุปสรรคตรงนี้สำหรับเราแล้วแทบไม่เป็นอุปสรรค แต่มีค่าใช้จ่ายในการรื้อหลังคา แล้วมาเชื่อมทำหลังคาใหม่ ซึ่งก็ใช้วัสดุเดิมค่ะไม่ต้องซื้อเพิ่ม ค่ารถเครน ทางผู้ผลิตตู้ก็บริการให้เราจนย้ายเสร็จ บริการดีมากค่ะ ช่วยเราคิดช่วยเราประหยัดทุกอย่าง มีค่าใช้จ่ายเรื่องการดึงสายเมนไฟฟ้าจากเสาไฟฟ้ามายังตัวตู้ ระบบสายดิน การเดินเรื่องขอมิเตอร์ไฟฟ้าตัวใหม่ ส่วนตัวเก่าต้องยกเลิกค่ะ การทำเรื่องย้ายเลขที่บ้านของร้านมายังที่ใหม่ คือบ้านพักอาศัยของเรา ก็มีค่าใช้จ่ายพอสมควร แต่ก็ “เจ็บแต่จบ” ค่ะ ชอบคำนี้ค่ะ

ปรีดา: แต่ก็เจ็บจริงๆ นะครับ เพราะว่ารวมค่าใช้จ่ายกับความเสียหายที่จ่ายในหลายๆ เรื่อง รวมๆ แล้วก็เกือบถึง 8 หมื่นบาท เอาเรื่องอยู่เหมือนกันครับ

ชนัญชิดา: นั่นละค่ะถึงชอบคำนี้ของพี่ปองค่ะ “เจ็บแต่จบ” ค่ะ

ปรีดา: ปัญหาต่างๆ อุปสรรคต่างๆ ก็ผ่านไปแล้วจนร้านบ้านอร่อย ๒๕ มาอยู่รวมกันในพื้นที่บ้านของครอบครัวเราแล้ว เรื่องการตลาด เราเดินหน้ากันอย่างไรต่อครับ เพราะเดิมเราอยู่ที่ตลาด มีคนพบเห็นผ่านไปผ่านมาตลอด แต่นี่เราย้ายร้านมาตั้งในหมู่บ้าน ไม่มีใครเห็นร้านของเราเลย เราทำอย่างไรต่อครับ

ชนัญชิดา: ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องการตลาด เราอยากเล่าให้ทุกท่านทราบเรื่องบังเอิญอีกเรื่อง ก็คือ การย้ายร้านมาไว้หน้าบ้านของเรา ตอนที่เราซื้อบ้าน ปกติบ้านในหมู่บ้านจะมีเพื่อนบ้านที่ตรงข้ามกับเรา สำหรับหมู่บ้านเปี่ยมสุข (บางบัวทอง) ที่เราเลือกมาอยู่นี้ ตอนที่เรามา เรามาตั้งแต่แรกๆ ทั้งหมู่บ้านจะมีโซนที่เราอยู่จำนวน 6 หลังที่ไม่มีเพื่อนบ้านตรงข้าม เพราะตรงข้ามบ้านเราเป็นกำแพงของโรงงานผลิตกล่องกระดาษ ซึ่งอาจจะมีฝุ่นมากกว่าจุดอื่น มีเสียงดัง แต่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเราเพราะเราเลือกซักผ้าตากแดดในวันที่โรงงานหยุด ส่วนใหญ่เราอยู่ในบ้านที่ติดเครื่องปรับอากาศ เสียงจากโรงงานจึงไม่ค่อยกระทบเราเท่าไหร่ แต่สิ่งดีที่เราได้มาและมีประโยชน์กับเรามาก คือการจอดรถได้ทั้งหน้าบ้านและริมกำแพงตรงข้ามบ้าน

เมื่อเราย้ายตู้คอนเทนเนอร์มาไว้หน้าบ้านจึงไม่เป็นการรบกวนเพื่อนบ้านที่อยู่ตรงข้ามเพราะไม่มีใคร เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นรายละเอียดที่เราอยากสื่อสารกับทุกท่านว่า บางครั้งในการดำเนินชีวิตประจำวันเราไม่รู้อนาคต แต่เราสามารถคิดเผื่อคิดต่างได้คล้ายๆ กับเรื่องการทำร้านลักษณะตู้คอนเทนเนอร์ ค่ะ หรืออีกเรื่องที่เป็นตัวอย่างได้คือ ขนาดพื้นที่ดินที่เราเลือกพื้นที่ดินที่มากที่สุดที่เรารับได้ ในตอนที่ตัดสินใจซื้อบ้านทำให้จากประตูกระจกหน้าบ้านถึงรั้วบ้านมีความลึกถึง 7 เมตร ทำให้สามารถวางตู้คอนเทนเนอร์ที่มีความลึก 3 เมตรได้สบายๆ ค่ะ แน่นอนว่าเราสองคนไม่ได้มีตาที่จะมองมาข้างหน้าได้ แต่การเผื่อเหลือนั้นก็ทำให้เราแก้ปัญหาในช่วงโควิดได้เป็นอย่างดีค่ะ

ชนัญชิดา: สำหรับเรื่องการตลาด เจี๊ยบขอแบ่งเป็น 3 ระยะนะค่ะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แต่ต้องเล่าให้ทุกท่านทราบแนวทางการตลาดที่เราทำมาตลอด คือ “การบอกต่อ” ว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องการบอกต่อ เป็นลำดับที่หนึ่ง เป็นหัวใจสำคัญของการทำการตลาด และเราทำตรงนี้ได้ดี เราต้องการให้ลูกค้าของเรารู้สึก “ทานแล้วครั้งหน้าถ้าจะทานแหนมเนืองพร้อมทานที่มีผักและเครื่องเคียงครบชุดพร้อมทานต้องนึกถึงบ้านอร่อย ๒๕” ที่ผ่านมาเรามั่นใจว่าเราทำความรู้สึกนี้ให้เกิดขึ้นกับลูกค้าสำเร็จไปแล้วขั้นหนึ่ง เราใช้เวลาเดินทางตรงนี้ 1 ปีเต็ม ทำให้เรามีฐานลูกค้ากลุ่มเดิมของเรา 90% เป็นลูกค้าประจำซื้อซ้ำ ดังนั้นลูกค้ากลุ่มนี้พร้อมจะซื้อกับเราเมื่อเราเปิดดำเนินการค่ะ

ปรีดา: ดังนั้นแล้ว แสดงว่า การทำการตลาดระยะสั้น คือการดึงลูกค้ากลุ่มนี้กลับมาอีกครั้งใช่ไหมครับ

ชนัญชิดา: ใช่ค่ะ วันที่ 15 พ.ค.63 เราเปิดร้านเต็มที่วันแรก ก่อนหน้านั้นเราโทรศัพท์หาลูกค้าทุกท่านที่มีเบอร์มือถือในเครื่อง ลูกค้าทุกท่านดีใจ ฟังจากเสียงการพูดคุยกันค่ะ หลายท่านมาที่ร้านหลังเราติดต่อไป บางท่านปกติจะเหมารถ TAXI มาซื้อเราเป็นประจำเราพึ่งทราบ แต่วันที่มาซื้อให้ลูกสาวขับรถพามาซื้อ การที่เราปิดร้านไป 2 เดือน กลายเป็นว่าลูกค้าคิดถึงเรา คุยกันสนิทมากขึ้นเพราะไม่ใช่แค่คุยเรื่องตัวสินค้าอย่างเดียว แต่ถามสารทุกข์สุขดิบกันจนสนิทขึ้น แทบทุกท่านในช่วงนี้ที่คิดถึงกัน อุดหนุนกัน เราจะมีของแถมให้ด้วยค่ะ ให้ลูกค้าประทับใจค่ะ กลุ่มลูกค้าประจำของเราก็มีสมาชิกหมู่บ้านเปี่ยมสุข ที่เราย้ายมาด้วย เท่ากับเป็นการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าไม่ต้องไปหาเราที่ตลาด แค่เดินมาก็ซื้อได้แล้วค่ะ

ลูกค้าประจำอยู่ในหมู่บ้านเปี่ยมสุข เมื่อเราย้ายเข้ามาในหมู่บ้าน ทำให้ลูกค้าสะดวกที่จะมาอุดหนุน

ลูกค้าวีไอพีประจำหมู่บ้านลัดดาวัลย์ เมื่อทราบเปิดร้าน แวะมาอุดหนุนทันที

รุ่นน้องโรงเรียนโยธินบูรณะ มาอุดหนุนก่อนเราปิดร้านบ้านอร่อย ๒๕ ตอนค่ำๆ 

ลูกค้าประจำห่างจากเราไปประมาณ 5 กิโลเมตร หลังเลิกงานฝ่าสายฝนมาอุดหนุน หลังเราโทรแจ้งเปิดร้านแล้ว

ลูกค้าประจำอยู่ห่างจากเราไป 30 กิโลเมตร พอรู้ว่าเราเปิดร้านอีกครั้ง รีบให้ลูกสาวขับรถพามาอุดหนุนแทน TAXI

ลูกค้าประจำวีไอพี มีออเดอร์ด่วน เพื่อนำแหนมเนืองพร้อมทานไปเป็นของฝาก ต้องรีบตื่นเช้ามืดมาเตรียมสินค้า


หนูนา ลูกสาว พากันไปส่งแหนมเนืองพร้อมทานให้กับลูกค้าประจำวีไอพี ช่วงเช้ามืด


ปรีดา: แล้วการตลาดระยะกลางเป็นรูปแบบไหนครับ

ชนัญชิดา: สำหรับระยะกลาง จริงๆ แล้วก็เรียกให้ดูเข้าใจง่าย แต่อยากจะสื่อความหมายแบบนี้ค่ะ คือเป็นการขยายตลาดที่เราเองก็ต้องปรับตัวมากกว่าค่ะ เพราะเราไปเสียเงินค่าใช้จ่ายในการย้ายร้าน บวกกับขาดรายได้ไป 2 เดือน เรียกว่าตัวธุรกิจยังขาดทุนสะสมอยู่ เราต้องเร่งชดเชยส่วนนี้ เรามาดูข้อมูลของกลุ่มลูกค้าประจำ พบว่าหลายท่านทำงานประจำ หลายท่านเป็นถึงระดับบริหาร เป็นเจ้าของกิจการ เราจึงตัดสินใจที่จะออกเดินสายบริการจัดส่งให้ถึงมือลูกค้า โดยกำหนดส่งสินค้าทุกวันศุกร์ เริ่มทำจาก 1 วันใน 1 สัปดาห์ก่อน ถ้าลูกค้าเพิ่มทั้งจำนวนและสถานที่เช่น สำนักงาน มหาวิทยาลัย เราจะเพิ่มจำนวนวันให้มากขึ้นใน 1 สัปดาห์ต่อไปค่ะ

ปรีดา: ผมขอเสริมตรงนี้นะครับ คือฐานลูกค้าเดิมของเราที่เราเรียกประจำว่า ลูกค้าวีไอพี ปกติเราจะมีการบริการส่งให้เป็นประจำแต่เป็นการส่งสินค้าที่ค่อนข้างอิงเราเป็นหลักแทน คือ ถ้าเรามีธุระเข้าไปในเขตกรุงเทพฯ (บ้านอร่อย ๒๕ ตั้งอยู่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี) เราจะโทรไปถามลูกค้าว่าจะรับสินค้าไหม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะให้เราส่งสินค้าในวันที่เราเดินทางหรือตามที่เราสะดวก ตรงนี้ที่ผ่านมาเราก็เกรงใจลูกค้ามาก พอเกิดสถานการณ์โควิด เราปรับวิธีการกำหนดวันศุกร์เป็นวันส่งสินค้า ทำให้เรารู้สึกไม่เอาเปรียบลูกค้า ลูกค้าไม่ต้องรอเรา แต่ทราบวันที่เรากำหนดทุกสัปดาห์ครับ

ชนัญชิดา: ค่ะ อีกเรื่องที่ทำไมต้องเป็นวันศุกร์ ก็มีที่มาที่ไปด้วยค่ะ คือทางผู้บริหารของบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) มีกิจกรรมให้บุคคลภายนอกมาขายผักในอาคารทีเอฟ หรือเราเรียกกันติดปากว่า อาคารมาม่า ก็ได้ชักชวนให้ให้โอกาสเรานำแหนมเนืองพร้อมทานไปขายด้วย แต่ด้วยที่ว่าเราต้องมีกิจกรรมระหว่างวันหลายเรื่อง ผู้บริหารจึงอนุญาตให้เราไปส่งมอบสินค้าแทนการวางจำหน่ายค่ะ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราติดต่อลูกค้าวีไอพีทุกท่านว่า เราจะเริ่มทริปส่งแหนมเนืองสุทธิลักษณ์พร้อมทานกับชุดผักและเครื่องเคียงสดสะอาด ทุกวันศุกร์ ค่ะ

ปรีดา: ขณะนี้ลูกค้ากลุ่มสำนักงานองค์กร เรามีกี่แห่งแล้วครับ

ชนัญชิดา: ค่ะ ขอเรียงลำดับนะค่ะ
·       มีอาคารมาม่า หรือบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งกรณีของมาม่า เราภูมิใจมากตรงที่ บริษัทมาม่า เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและทำอาหารให้คนไทยทั่วประเทศได้บริโภค เปรียบเสมือนเราทำอาหารมาให้องค์กรที่ทำอาหารในคนทั้งประเทศได้ทาน ตรงนี้ภูมิใจมากๆ ค่ะ แล้วที่มาม่าอุดหนุนเรา ตอนนี้มากที่สุดค่ะ คือมีออเดอร์ถึงครั้งละ 20 ชุดค่ะ
·       มีบริษัท วิทยุการแห่งประเทศไทย จำกัด ที่เราเคยไปขายในวันที่มีการจัดตลาดนัดประจำปีเมื่อช่วงปลายปี 2562 ขายตั้งแต่ 07.30-11.30 น. เราขายได้ถึง 80 ชุด ทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่เคยทานอยู่ ที่วิทยุการบินมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งช่วยรวบรวมลูกค้าให้ด้วยค่ะ
·       ที่ดุสิตคอนโดมิเนียม มีผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ให้ทุนทำบ้านอร่อย ๒๕ และยังคอยช่วยสั่งซื้อตลอดเวลาค่ะ
·       ที่บริษัท บัณฑิตเซ็นเตอร์ จำกัด ที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์กระปุกดอทคอมค่ะ
·       ที่โรงพยาบาลพญาไท 1 มีคุณหมอที่รู้จักกันกับพี่พยาบาลที่สนิทรู้จักกันมาเกือบ 20 ปีค่ะ
·       ยังมีลูกค้าอีกกลุ่มที่มีจำนวนมากพอสมควร คือกลุ่มผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนสาธิตประสานมิตรค่ะ รวมถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัย มศว.ประสานมิตร ด้วยค่ะ สำหรับทั้งสองแห่งนี้ ผมมีน้องสาวแท้ๆ 2 คนช่วยกระจาย ช่วยอุดหนุนไปด้วย เพราะมีลูกสาวเรียนที่สาธิต มศว. ครับ ส่วนอีกคนเป็นอาจารย์สอนประจำรายวิชาใน มศว.ประสานมิตร ครับ

สำหรับยอดขายโดยรวมเรียกว่า ดีกว่าการขายที่ตลาดพิมลราช และยอดขายตอนนี้ยังพึ่งเริ่ม เพราะเราเริ่มขายยังไม่ถึง 1 เดือน โดยเราจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนสำนักงานเพิ่มขึ้นค่ะ และเราก็เชื่อมั่นว่าแต่ละแห่งจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนยอดสั่งซื้อเอง เพราะเรากำลังทำโปรมั่นโดนๆ อยู่ค่ะ

จัดเตรียมสินค้าแหนมเนืองสุทธิลักษณ์พร้อมทานกับชุดผักและเครื่องเคียงสดสะอาด พร้อมรอส่งถึงมือลูกค้า


จัดเรียงสินค้าแหนมเนืองสุทธิลักษณ์พร้อมทานกับชุดผักและเครื่องเคียง รอลูกค้ามารับที่อาคารทีเอฟ มาม่า



คุณพจนี พะเนียงเวทย์ (ขวา) ผู้บริหารของ บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ผู้ผลิต "มาม่า" (ถ่ายที่อาคารทีเอฟ)
ลูกค้าวีไอพี ของร้าน "บ้านอร่อย ๒๕" ที่ท่านช่วยกำหนดวันส่งสินค้าให้กับทางเรานำส่งทุกวันศุกร์ ค่ะ


ลูกค้าที่บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ลูกค้าวีไอพีของเราอีกราย
ลูกค้า บริษัท ร่วมพัฒนาน้ำแข็งหลอด จำกัด
ลูกค้า บริษัท บัณฑิตเซ็นเตอร์ จำกัด ผู้พัฒนาเว็บไซต์กระปุกดอทคอม
ลูกค้า บริษัท บิ๊กบ็อกซ์ คอนเทนเนอร์ จำกัด
ลูกค้าประจำวีไอพี คุณบุญอารักษ์ โอเจริญ ดุสิตคอนโดมิเนียม

ปรีดา: ผมขอเสริมตรงเรื่องยอดขายนะครับ ส่วนตัวอาจจะเป็นการพูดถึงปัญหาในการผลิตของเรา แต่ผมคิดว่าก็เป็นปัญหาที่เปิดเผยได้ตรงที่ เราเองก็มีปัญหาการผลิตผักสดและเครื่องเคียง เพราะตัวคุณเจี๊ยบเป็นคนลงมือทำส่วนการเตรียมวัตถุดิบทั้งหมด ซึ่งผมมองว่าเป็นงานที่หนักมาก หากมียอดขายเพิ่มขึ้นๆ เรื่อยๆ เราเองก็กำลังปรับปรุงวิธีการและบริหารจัดการปัญหานี้อยู่ แต่ภาพรวมเราก็รู้ว่าเรามีความสามารถในการผลิตได้เท่าไหร่ต่อสัปดาห์ครับ

ชนัญชิดา: ใช่ค่ะ ตอนนี้กำลังการผลิตผักสดและเครื่องเคียงเราสามารถทำได้ถึง 1,000 ชุดต่อเดือนค่ะ หากมากกว่านี้ เราต้องปรับปรุงการผลิตใหม่ค่ะ ซึ่งตอนนี้ก็มองๆ ไว้แล้วว่าต้องทำอย่างไรค่ะ 

คุณชนัญชิดากำลังจัดเตรียมผักกาดหอม บรรจุลงกล่องพลาสติกและนำเข้าตู้เย็น




ตู้เย็นขนาดใหญ่ 2 ประตู (ซ้ายมือ) ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ไทยอินโนฟู้ด จำกัด

ปรีดา: ผมคิดว่าเรื่องการได้รับการสนับสนุนจากทางบริษัท ไทยอินโนฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตแหนมเนืองสุทธิลักษณ์พร้อมทาน และสินค้าอีกหลายตัว ก็มีส่วนสำคัญนะครับ ที่ทำให้เราสามารถรองรับกลุ่มลูกค้าสำนักงานองค์กรได้ในช่วงที่ผ่านมาครับ

ชนัญชิดา: ใช่ค่ะ ช่วงที่ผ่านมาที่ลูกค้ามีออเดอร์สั่งซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พบว่าปัญหาของเราอีกเรื่องคือ การไม่มีที่จัดเก็บสต๊อกสินค้า ทั้งแหนมเนืองและผักสดกับเครื่องเคียงที่เราบรรจุกล่องพลาสติก ทำให้เราเพิ่มยอดขายไม่ได้ จึงได้คุยกับทางสุทธิลักษณ์ เพื่อขอรับการสนับสนุนตู้เย็นขนาดใหญ่ 2 ประตู (ยี่ห้อ SANDEN ประหยัดไฟเบอร์ 5) ซึ่งทางผู้บริหารของบริษัท ไทยอินโนฟู้ด จำกัด ก็ให้การสนับสนุนทันทีตามที่เราได้ขอคำปรึกษา ทำให้เราสามารถสั่งซื้อสินค้ามาสต๊อกได้มากขึ้นค่ะ / สามารถอ่านบทสัมภาษณ์พิเศษการสนับสนุนจากสุทธิลักษณ์ ได้ที่ลิงก์นี้ค่ะ https://baanaroi25.blogspot.com/p/blog-page_86.html

ปรีดา: ผมอยากเสริมในส่วนของการที่เราให้ความสำคัญกับเว็บไซต์ การทำเนื้อหา บทความ ความรู้ และข้อมูลที่เราอยากสื่อสารกับลูกค้าของเรา ซึ่งส่วนนี้ผมเป็นผู้ดูแลจัดทำ ช่วยได้มากนะครับเพราะทำให้ลูกค้ามีความเข้าใจในตัวสินค้า และบริการของเรา เราพยายามจะทำให้ลูกค้าเห็นเราให้เป็นเหมือนเพื่อน เหมือนญาติ ที่ไว้ใจได้ รู้ว่าเราทำอะไรกับวัตถุดิบ รู้ว่าเรามีลูกค้าที่ไหนบ้าง รู้ความเป็นครอบครัวของเรา ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกสนิทกับเราแม้จะไม่รู้จักกัน และรู้ว่าเรามีความตั้งใจที่จะทำวัตถุดิบดีๆ ให้ลูกค้าได้ทานอย่างสบายใจครับ

ปรีดา: เรายังไม่ไปถึงการตลาดระยะยาวนะครับ ผมนึกขึ้นมาได้ว่า มีคำถามจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งถามเราสองคนว่า “ทำไมมาส่งเอง ทำไมไม่ใช่บริการจัดส่งที่มีทั่วไป” ผมอยากให้คุณเจี๊ยบได้บอกความรู้สึกตรงนี้ให้ทุกท่านทราบ เพราะผมคิดว่าเป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจมากครับ

ชนัญชิดา: ค่ะ คือครอบครัวมีประสบการณ์ตรงกับการจัดส่งสินค้าอย่างมากค่ะ เพราะเราก็เป็นผู้ซื้อผู้บริโภคเหมือนกัน ทั้งคนส่งของที่พูดจาไม่ดี ทั้งสินค้าที่เราได้รับบางครั้งมีความเสียหายเกิดขึ้น สำหรับเราแล้วเรามองว่า กว่าจะออกแบบ กว่าจะผลิต กว่าจะตรวจสอบ กว่าจะทำการตลาด กว่าจะขายได้ ผ่านขั้นตอนมาตั้งมากมาย หลายๆ ธุรกิจพลาดขั้นตอนสุดท้าย ตอนขั้นตอนจัดส่งขนส่งนี่ละค่ะ แหนมเนืองพร้อมทานของเรา แค่กระปุกเครื่องเคียงเรายังไม่อยากให้ล้มเลยค่ะ

เราอยากได้สินค้าอย่างไร ทางเราก็จะพยายามส่งมอบสินค้าแบบที่เราอยากได้ให้กับลูกค้าอย่างนั้น เราต้องมีความสะอาด การจัดเรียงสินค้าที่ดี เราจะส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าแบบนี้ไปเรื่อยๆ ค่ะ จนกว่าเราจะสามารถออกแบบพัฒนาการจัดส่งที่เราคิดขึ้นมาเอง ที่สามารถทำให้จัดส่งคนไหนก็ได้สามารถส่งสินค้าที่ดีมีคุณภาพให้ถึงมือลูกค้าแบบที่เรากำลังทำอยู่ค่ะ สำคัญอีกเรื่องคือ การที่เราได้พบลูกค้าเป็นความสุขใจที่ได้เห็นหน้าลูกค้า ได้พูดได้คุย และรับคำติชมต่างๆ กลับมาพัฒนาปรับปรุงจนเราจะมั่นใจได้ว่า เราได้แก้ไขปรับปรุงหมดแล้ว เราถึงจะวางใจให้มีคนมาจัดส่งแทนเราค่ะ

การส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าด้วยตัวเองในช่วงต้นนี้ทำให้ได้มีโอกาสพูดคุยกับลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนา

ปรีดา: ผมคิดว่า ในการตลาดตรงนี้ที่เรากำลังทำอยู่ มีเรื่องง่ายๆ อีกเรื่อง ที่ผมแนะนำว่าแทบทุกธุรกิจก็ทำแบบเราได้ คือ การมีเครื่องรูดบัตรเครดิต-เดบิต เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่เรานำมาใช้หลังวิกฤติโควิดนี้ด้วยครับ ซึ่งตอนนี้เครื่องรูดบัตรมีแทบทุกธนาคาร ใครใช้บริการธนาคารไหนก็ติดต่อขอรับเครื่องรูดบัตรนี้มาใช้กับธุรกิจของคุณได้ครับ

ชนัญชิดา: ขอเสริมอีกเรื่องนะค่ะ เพราะปัจจุบันทุกคนจะนิยมเรื่องการใช้ออนไลน์ในการทำการตลาด ซึ่งเราก็ใช้เหมือนกัน แน่นอนว่าเราจะเห็นภาพข่าวมากมายที่มีการหลอกลวงกัน ฉ้อโกงกัน ดังนั้นร้านบ้านอร่อย ๒๕ ของเรามั่นใจว่า ในกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพแล้วทานแหนมเนืองพร้อมทานกับเรานั้น เมื่อทานแล้วจะติดใจกับแหนมเนืองที่ได้คุณภาพ และผักกับเครื่องเคียง ที่เราลงมือทำเอง ออนไลน์ก็สำคัญ แต่ถ้าสินค้าเราไม่มีคุณภาพ ลูกค้าก็ซื้อครั้งเดียว ดังนั้นการทำสินค้าให้ดี มีมาตรฐาน เพื่อให้ลูกค้า “ซื้อซ้ำ และบอกต่อ” สำหรับเราคือสำคัญที่สุดค่ะ

เรานำเครื่องรูดบัตรเครดิต-เดบิต มาให้บริการลูกค้าร้านบ้านอร่อย ๒๕ หลังวิกฤติโควิด อย่างจริงจัง


ปรีดา: ครับ ถูกต้องครับ ผมคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว เพราะตอนนี้แม้แต่ผักที่เราทำ ลูกค้ามีการซื้อผักเพิ่มเติมจากชุดแหนมเนืองพร้อมทานที่เรามีผักให้อยู่แล้วด้วยครับ ผักของเราอ่อน สด สะอาด ตรงนี้ก็สามารถมัดใจลูกค้าด้วยเช่นกันครับ

ชนัญชิดา: เร็วๆ นี้ทางเราก็จะมีโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายอีกหลายรูปแบบ ซึ่งเรากำลังเร่งดำเนินการอยู่ค่ะ

ปรีดา: ครับในการพูดคุยในช่วงท้ายๆ นี้ สำหรับการตลาดระยะยาวของเรา เป็นเรื่องที่เราคิดไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิด เป็นรูปแบบของการขยายสาขาที่เราออกแบบไว้ถึง 3 รูปแบบ ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์นี้ครับ https://baanaroi25.blogspot.com/p/blog-page_24.html
   
ปรีดา: เราสองคนมีความตั้งใจว่า บทสนทนาของเราสองคน คงอาจจะพอเป็นอีกตัวอย่างของการมีสติเมื่อเจอกับปัญหาที่อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของโควิด เท่านั้น พวกเราคิดตลอดเวลา มีการเตรียมพร้อมตลอดเวลา เราจะถอดเทปบทสนทนาที่เราคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านอีกเป็นระยะๆ นะครับ

ชนัญชิดา: ค่ะ เราขอฝากทิ้งท้ายไว้นะค่ะว่า เมื่อเกิดวิกฤติอะไรก็ตาม ขอให้มีสามสิ่งนี้ค่ะ คือ “สติ ครอบครัว และขอให้เราทำดี”  ขอขยายความว่าทำดีของเรา หมายถึง “มีความกตัญญู ซื่อสัตย์ และคิดดีทำดี” ค่ะ  ขอบพระคุณทุกท่านมากนะค่ะ มีเรื่องสอบถามสามารถติดต่อเจี๊ยบได้ที่มือถือ 097-229-2345 ค่ะ

ปรีดา: ใช่ครับ มุมมองผมคือ ทุกๆ คนเคยผิดพลาดมาก่อน หลายคนจะบอกว่าตัวเองไม่ใช่คนดี เราเองก็ไม่เคยไปบอกใครว่าเราเป็นคนดี มุมที่ผมอยากนำเสนอเพียง “ให้เราคิดดี ทำดี ประพฤติดี” ก็พอครับ สำหรับมือถือผมนะครับ 086-314-7866 อยากสอบถามเรื่องการทำตู้คอนเทนเนอร์ การทำเว็บไซต์ การตลาด ก็ติดต่อได้ตลอดนะครับ ดึกๆ ยิ่งสะดวกครับ พร้อมให้คำแนะนำครับ ขอบพระคุณทุกท่านมากครับ

สนทนาเมื่อ 1 มิถุนายน 2563
พิมพ์เมื่อ 2 มิถุนายน 2563

ด้วยความนับถือ
นางสาวชนัญชิดา ลิ้มนนทกุล
097-229-2345 (LINE)
เจ้าของร้านบ้านอร่อย ๒๕

นายปรีดา ลิ้มนนทกุล
086-314-7866 (LINE)
ที่ปรึกษาร้านบ้านอร่อย ๒๕
ผู้ดูแลและจัดทำเว็บไซต์บ้านอร่อย ๒๕

2 ความคิดเห็น:

  1. ข่าวเปลี่ยนชีวิต !!!!
    นี่คือการเปลี่ยนแปลงชีวิต! ฉันชื่อนางสาวบุษราคัมฉันมาจากประเทศไทย เนื่องจากการวิเคราะห์ทางการเงินที่เฉพาะเจาะจงสัญญาที่เขาจัดการเมื่อเดือนที่แล้วจึงไม่เป็นไปตามแผน ดังนั้นฉันจึงตัดสินใจขอเงินกู้ แต่ไม่ได้รับการอนุมัติเนื่องจากอันดับเครดิตที่ไม่ดีของฉัน ไม่กี่วันที่ผ่านมาผู้หญิงคนหนึ่งจากองค์กรของฉันมาบอกฉันทางออนไลน์เกี่ยวกับ LYDIA MOON COOPERATIVE LOAN COMPANY ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% และกำหนดการชำระเงินที่ดีกว่า และเธอบอกฉันว่าเธอถูกโกงสองสามครั้งจนกระทั่งเธอถูกส่งต่อไปยัง LYDIA MOON CO-OPERATIVE LOAN COMPANY จากนั้นฉันก็ติดต่อพวกเขาที่ lydiamooncooperativeloan@gmail.com และพวกเขาก็ให้เงินกู้ฉันดีใจมาก

    ตอบลบ
  2. ความสนใจ:
    คุณกำลังมองหา บริษัท สินเชื่อทางการเงินที่แท้จริงเพื่อให้คุณกู้ยืมระหว่าง 5,000 ยูโรถึง 50,000,000 ยูโร (สำหรับสินเชื่อธุรกิจหรือ บริษัท สินเชื่อส่วนบุคคลสินเชื่อบ้านสินเชื่อรถยนต์เงินกู้รวมหนี้เงินร่วมทุนเงินกู้เพื่อการดูแลสุขภาพ ฯลฯ )
    หรือคุณเคยถูกปฏิเสธการกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินเพราะสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือไม่?
    สมัครตอนนี้และรับเงินกู้ทางการเงินจริงที่ดำเนินการและอนุมัติภายใน 3 วัน
    LYDIA MOON CO-OPERATIVE LOAN COMPANY เราคือ "ผู้ให้กู้สินเชื่อที่ได้รับการรับรองในระดับสากล" ที่ให้เงินกู้ทางการเงินจริงแก่บุคคลและ บริษัท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% พร้อมบัตรประจำตัวที่ถูกต้องหรือหนังสือเดินทางระหว่างประเทศของประเทศของคุณเพื่อการตรวจสอบ
    การชำระคืนเงินกู้ของเราเริ่มต้น 1 (หนึ่ง) ปีหลังจากที่คุณได้รับเงินกู้และระยะเวลาการชำระคืนอยู่ระหว่าง 3 ถึง 50 ปี

    สำหรับการตอบสนองทันทีและการดำเนินการตามคำขอเงินกู้ของคุณภายใน 2 วันทำการ
    ติดต่อเราโดยตรงผ่านอีเมลนี้: lydiamooncooperativeloan@gmail.com


    ติดต่อเราด้วยข้อมูลต่อไปนี้:

    ชื่อเต็ม:____________________________
    จำนวนเงินที่ต้องการเป็นเงินกู้: ________________
    ระยะเวลากู้: _________________________
    วัตถุประสงค์ในการกู้ยืม: ______________________
    วันเกิด:___________________________
    เพศ:_______________________________
    สถานภาพการสมรส:__________________________
    ที่อยู่ติดต่อ:_______________________
    เมือง / รหัสไปรษณีย์: __________________________
    ประเทศ:_______________________________
    อาชีพ:____________________________
    โทรศัพท์มือถือ:__________________________

    ส่งคำขอของคุณเพื่อตอบกลับทันทีที่: lydiamooncooperativeloan@gmail.com

    ขอขอบคุณ.
    ลิเดียมูน
    ผู้อำนวยการ.
    LYDIA MOON CO-OPERATIVE LOAN COMPANY
    อีเมล: lydiamooncooperativeloan@gmail.com

    ตอบลบ